พริกเป็นพืชผักในกลุ่ม Solanaceous เช่นเดียวกับมะเขือเทศ แต่อยู่ใน genus capsicum ในประเทศไทย ที่นิยมปลูกมีอยู่ด้วยกันหลายชนิดทั้งเผ็ดและไม่เผ็ด เช่น พริกขี้หนู (brid chilli) พริกมันหรือพริกชี้ฟ้า (hot pepper) พริกหยวก (banana pepper) และพริกยักษ์หรือพริกหวาน (bell prpper) แม้ว่าพริกจะเป็นพืชผักที่ใช้ประกอบอาหารประเภทปรุงแต่งรส แต่ก็เป็นพืชสำคัญทางเศษฐกิจ จัดอยู่ในกลุ่มของพืชอาหารหลักชนิดหนึ่งของชาวไทยสามารถปลูกและเจริญเติบโตได้ดีในทุกภาคของประเทศและตลอดปี ขณะเดียวกันก็ปรากฏว่ามีโรคและศัตรูหลายชนิดขึ้นเกาะกินทำลาย ทำให้เกิดความเสียหายทั้งคุณภาพและปริมาณเป็นจำนวนมากในแต่ละปีเช่นกัน
โรคแอนแทรคโนส (Pepper Anthracnose)
แอนแทรคโนสเป็นโรคที่ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดและทำความเสียหายเฉพาะผลพริก ซึ่งชาวบ้านทั่วไปรู้จักกันในชื่อ โรคกุ้งแห้ง
อาการโรค
ที่ผลพริกอาการจะเริ่มจากแผลหรือจุดช้ำเป็นแอ่งยุบลง ลักษณะอาจกลมหรือไม่แน่นอน ขนาดก็ตั้งแต่จุดเล็กไปจนโต ความกว้างของพริก อาจมีเพียงแผลเดียวหรือหลายแผลก็ได้ แผลเหล่านี้ต่อมาจะแห้งเป็นสีน้ำตาลหรือสีดำ พร้อมกับการสร้าง fruiting body ซึ่งเป็นที่เกิดของสปอร์หรือโคนิเดีย เป็นจุดสีเหลืองส้มหรือน้ำตาลเป็นวงๆ เรียงซ้อนกันอยู่ที่แผลดังกล่าว เชื้อจะเข้าทำลายผลพริกได้ทุกระยะ การเจริญตั้งแต่เริ่มเป็นเม็ดเล็กๆ จนโตเต็มที่และสุกแดงแล้ว อย่างไรก็ดีหากเป็นระยะที่ยังอ่อนเซลล์บริเวณแผลซึ่งถูกทำลายจะหยุดการเจริญเติบโต ขณะเดียวกันส่วนรอบๆ จะเจริญไปเรื่อย ทำให้เกิดอาการคดโค้งงอหรือบิดเบี้ยวขึ้นโดยมีแผล หรือเซลล์ที่ตายอยู่ด้านใน ลักษณะคล้ายกุ้งแก้งทำให้มีชื่อเรียกดังกล่าว ดังได้กล่าวว่าปกติโรคนี้จะทำลายเฉพาะผลพริก แต่ในกรณีที่โรคระบาดรุนแรงสิ่งแวดล้อมเหมาะสม อาจเกิดอาการแผลขึ้นที่ต้นกิ่งใบได้เช่นกัน
สาเหตุโรค : Colletotrichum gloeosporioides และ C. dematium
เป็นเชื้อรามี fruiting body สีเหลืองส้ม และ fruiting body สีน้ำตาลดำตามลำดับ พร้อมทั้งมีขนแข็งๆ (setae) สีดำขึ้นแซมอยู่ทั่วไประหว่างสปอร์หรือโคนิเดีย อย่างไรก็ตามสีของ fruiting body ทั้งสองนี้จะต่างหรือแยกออกจากกันได้ขณะที่ยังอ่อนหรือเริ่มสร้างเท่านั้นพอแก่จะกลายเป็นสีดำเหมือนกันหมด
Colletotrichum spp. มีการขยายพันธุ์แบบไม่ใช้เพศ โดยการสร้างสปอร์หรือโคนิเดียลักษณะเป็นแท่ง หัวท้ายมน เซลล์เดียว บนก้านสั้นๆ ภายใน fruiting body ลักษณะรูปถ้วยคว่ำ (acervulus) บนแผลซึ่งมองเห็นเป็นจุดดำๆ เรียงซ้อนกันเป็นวง เมื่อโคนิเดียแก่จะดันเปลือกด้านบน fruiting body ให้เปิดแตกออก แล้วหลุดออกมาข้างนอกปลิวแพร่กระจายไปตามลม น้ำที่สาดกระเซ็น แมลง เครื่องมือกสิกรรม และสิ่งเคลื่อนไหวทุกชนิดที่ไปถูกต้องสัมผัสเข้า เมื่อตกลงบนผลพริกก็จะงอกเข้าทำลายแล้วก่อให้เกิดอาการขึ้นภายใน 3-5 วัน จากพริกที่เป็นโรคเชื้อราจะถูกถ่ายไปยังเมล็ดเพื่ออยู่ ข้ามฤดูและแพร่ระบาดต่อไป
สำหรับสิ่งแวดล้อมที่ช่วยในการแพร่ระบาดและความรุนแรงของโรค คือความชื้นต้องสูงกว่า 95% อุณหภูมิระหว่าง 27-32°ซ.
การป้องกันกำจัด
1. งดปลูกพริกลงในดินหรือแปลงปลูกที่เคยมีโรคระบาดมาก่อนหรือปลูกพืชอื่นสลับไม่ต่ำกว่า 3 ปี
2. กำจัดพืชอาศัยและวัชพืชซึ่งอาจเป็นที่อาศัยชั่วคราวของเชื้อให้หมดจากบริเวณแปลงปลูก
3. เลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่สะอาดปราศจากโรคโดยการแช่ในนํ้าอุ่น 49°ซ. 20 นาที หรือแช่ในสารละลาย HgCI2 : 2000 5-10 นาที
4. เมื่อเกิดโรคขึ้นให้ฉีดพ่นต้นพริกด้วยสารเคมีฆ่าเชื้อราต่างๆ เช่น ไซแรม แคปแตน แอนทราโคล ไซเน็บ ไดโฟลาแทน และวามีนเอส ในอัตราส่วนตั้งแต่ 40-60 กรัม ต่อนํ้า 20 ลิตร ทุก 7-10 วัน หรือ 3-5 วัน ในกรณีที่เป็นรุนแรง
โรคต้นและใบไม้แห้ง (Phytophthora blight)
โรคที่เป็นกับพริกได้ทุกระยะการเจริญเติบโต และทุกส่วนของต้น นอกจากนั้นยังเป็นโรคที่ก่อให้เกิดอาการได้หลายลักษณะ ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับอายุ และส่วนของต้นพริกที่ถูกเชื้อเข้าทำลาย
อาการโรค
หากเชื้อเข้าทำลายในระยะกล้าหรือต้นอ่อน อาการจะคล้ายๆ โรคโคนเน่าคอดิน โดยเชื้อจะทำลายบริเวณโคน ทำให้ต้นกล้าล้มทับแล้วแห้งตายทั้งต้นคล้ายถูกไพ่หรือน้ำร้อนลวก ส่วนในต้นโตอาการที่จะเกิดขึ้นคือรากเน่า ต้น กิ่งก้านแตกเป็นแผลสะเก็ดใบเป็นแผลจุดแล้วแห้งผลพริกเน่า
อาการบนใบจะเริ่มจากจุดช้ำเล็กๆ แล้วขยายโตขึ้นอย่างรวดเร็ว หากเกิดหลายแผลในที่สุดใบทั้งใบจะเปลี่ยนเป็นสีนํ้าตาลหดย่นที่บริเวณแผลจะปรากฎมีเส้นใยและ fruiting body สีขาวขึ้นคลุมอยู่ทั่วไป
สำหรับต้นแผลสะเก็ดมักจะเกิดขึ้นที่โคนระดับพื้นดิน เมื่อเปลือกถูกทำลายจนรอบพืชจะตาย ส่วนบนกิ่งก้านหรือแขนงเมื่อเกิดอาการแผลจะทำให้เกิดอาการเหี่ยวเฉาติดตามมา ส่วนยอดหรือปลายกิ่งนั้นจะค่อยๆ แห้งตาย (die-back)
บนผลพริกหากเชื้อเข้าทำลายจะเกิดจุดแผลช้ำเล็กๆ ขึ้นก่อนแล้วขยายขนาดโตขึ้นอย่างรวดเร็วสีของแผลจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองฟางข้าวผิวยุบตัวลงพร้อมกับจะมีเส้นใยและสปอร์สีขาวขึ้นปกคลุมเช่นเดียวกับที่ใบ ผลพริกที่แสดงอาการนี้เชื้อราจะไปอาศัยอยู่ที่เมล็ดภายในทำให้เกิดเป็น seed-borne ขึ้น
สาเหตุโรค Phytophthora capsici
เป็นราชั้นต่ำ Class Oomycetes ขยายพันธุ์โดยการเกิดสปอร์แรงเจียที่มีลักษณะกลมหรือลูกมะนาว (lemonshaped) บนก้านยาวที่แตกกิ่งก้าน สปอร์แรงเจียจะงอกออกเป็นเซลล์ที่เคลื่อนไหวได้ (zoospores) มีหางสองเส้นว่ายน้ำอยู่ระยะหนึ่งต่อมาจะทิ้งหายกลายเป็นสปอร์กลม (encysted zoospore) แล้วจึงจะงอกออกเป็นเส้นใยเข้าทำลายพืชได้ สปอร์แรงเจียระบาดได้โดยลม แมลง หรือติดไปกับเครื่องมือ เครื่องใข้ ส่วนเซลล์ที่มีหางเคลื่อนไหวระบาดได้ดีโดยติดไปกับนํ้าฝนหรือนํ้าที่สาดกระเซ็น
การอยู่ข้ามฤดู อยู่ในลักษณะของ seed-borne หรือสปอร์ที่มีผนังหนา (restint oospores) ซึ่งเกิดจากการผสมทางเพศ สปอร์พวกนี้จะติดปะปนอยู่เศษทรากพืชตามดิน
P. capsici เป็นราที่มีการสร้างเซลล์ที่เคลื่อนไหวต้องการทั้งความชื้นและอุณหภูมิที่ค่อนข้างสูงในการเจริญและการทำลายพืช มักจะระบาดทำความเสียหายในระยะฝนตกชุก หมอกนํ้าค้างจัด อุณหภูมิตั้งแต่ 8-38° ซ. แต่จะเหมาะที่สุดที่ 30 °ซ. เชื้อตัวเดียวกันนี้นอกจากจะเป็นพริกแล้วยังสามารถทำลายพืชอื่นโดยก่อให้เกิดอาการเดียวกันได้อีกหลายชนิด เช่น แตงต่างๆ มะเขือเทศ ยาสูบ มันฝรั่ง และแครอท
การป้องกันกำจัด
1. เลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่สะอาดหากไม่แน่ใจควรจุ่มแช่ในน้ำอุ่น 49-50° ซ. นาน 20 นาที หรือสารละลาย HgCl2 1: 2000 นาน 5-10 นาที
2. หลีกเลี่ยงหรืองดปลูกพริกลงในดินแปลงเก่าที่เคยมีโรคระบาดหรือปลูกพืชหมุนเวียน 4-5 ปี
3. การปลูกพริกบนร่องหรือดินที่ยกสูงขึ้นมาจากพื้นปกติเพื่อไม่ให้มีนํ้าขังหรือแฉะจะช่วยลดการเกิดโรคได้
4. กำจัดทำลายเศษซากพืชเป็นโรค พร้อมทั้งต้นที่หลงเหลือจากการเก็บเกี่ยวและพืชอาศัยอื่นๆ ให้หมดจากบริเวณแปลงปลูก
5. เมื่อเกิดการระบาดของโรคให้ฉีดพ่นต้นพริกด้วยสารเคมี เช่น แอนทราโคล คาร์เบนดาซิม มาเน็บ โพลีแรม ซีเน็บ แมนโคเซ็บ และสารเคมีพวกที่ผสมธาตุทองแดง เช่น คูปราวิท หรือบอร์โดมิกซ์เจอร์ 6:6:100
6. ระวังเรื่องการให้นํ้าพืชเมื่อมีการระบาดของโรค เกิดขึ้นควรงดการให้นํ้าสักระยะหนึ่งหรือให้เฉพาะในตอนเช้าที่มีอากาศแจ่มใสและให้เท่าที่จำเป็นโดยรดที่โคนต้นไม่ควรให้โดยวิธีฉีดพ่นแบบสปริงเกอร์
โรครานํ้าค้าง (downy mildew)
นอกจากพริกแล้วโรคเดียวกันนี้ยังเกิดขึ้นได้กับมะเขือเทศ มันฝรั่ง ยาสูบ และมะเขือยาวด้วย
อาการโรค
อาการก็เช่นเดียวกับรานํ้าค้างบนพืชผักชนิดอื่นทั่วๆ ไป คือด้านบนของใบจะเกิดแผลจุดเซลล์ตายสีเหลืองส่วนด้านใต้ตรงกับที่เกิดแผลจะปรากฎกลุ่มเส้นใยและสปอร์แรงเจียสีขาว หรือเทาอ่อนๆ เป็นขุยออกมาจากผิวใบเมื่อเป็นนานๆ แผลที่ด้านบนของใบจะแห้งกลายเป็นจุดสีนํ้าตาล หากเกิดขึ้นมากๆ จะทำให้ใบเหลืองทั้งใบและอาจล่วงหลุดจากต้นทำให้ต้นโทรม ให้ผลน้อยลง ในระยะกล้าหรือต้นอ่อนหากเกิดโรคจะมีความรุนแรงกว่าต้นแก่หรือต้นที่โตแล้ว เพราะอาจทำให้กล้าตายทั้งต้น
สาเหตุโรค: Peronospora tabacina
เป็นราใน Class Oomycetes ซึ่งมีการสร้างเซลล์ที่เคลื่อนที่ได้เช่นเดียวกับพวก Phytophthora sp. หลังจากเข้าทำลายพืชแล้วจะเจริญเติบโตสร้างสปอร์แรงเจียลักษณะรูปไข่ที่ปลายที่แยกออกเป็นคู่ (dichotomously-branches) ของก้านที่แตกแขนง ซึ่งถูกส่งออกมาด้านใต้ใบ สปอร์เมื่อหลุดจากก้านปลิวไปตามลมหรือถูกนำให้ไปตกลงบนพืชก็จะงอกเป็นเซลล์ที่เคลื่อนที่ได้ก่อนแล้วจึงจะงอกเป็นเส้นใยภายหลังหรืออาจงอกเป็นเส้นใยโดยตรงเข้าทำลายพืชได้เลยทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม เช่น อุณหภูมิและความชื้นขณะนั้น หลังจากเข้าไปในพืชแล้วจะก่อให้เกิดอาการแล้วสร้างสปอร์ เพื่อแพร่ระบาดซํ้าได้ใหม่ในเวลาอันรวดเร็ว หากสิ่งแวดล้อมเหมาะสมพืชจะเสียหายอย่างรุนแรง บางครั้งจะพบว่ากล้าทั้งแปลงถูกทำลายหมดภายใน 2 – 3 วัน P. tabacina จะระบาดและทำความเสียหายให้กับพืชได้ดีในขณะที่ความชื้นสูงถึงจุดอิ่มตัว เช่น ในช่วงที่มีฝนตกปลอย เมฆหมอกน้ำค้างแรง สำหรับอุณหภูมิก็เช่นเดียวกับราน้ำค้างทั่วไปคือ ค่อนข้างต่ำในเวลากลางคืนระหว่าง 15-20°ซ.
การอยู่ข้ามฤดู
เนื่องจากเป็น obligate parasite จึงต้องอาศัยเกาะกินอยู่บนพืชที่มีชีวิตเท่านั้นไม่สามารถกินเศษทรากพืชได้ เช่น ราธรรมดาทั่วๆ ไป ด้วยเหตุนี้หากไม่มีพืชให้กินต่อก็จะมีการสร้าง oospores ผนังหนาซึ่งเกิดจากการผสมทางเพศปะปนอยู่กับเศษทรากพืชตามพื้นดินโดยทั่วไปแล้ว oospore ของราใน Family Peronosporaceae จะงอกเป็นเส้นใยโดยตรงเพื่อเข้าทำลายพืช แต่สำหรับ P. tabacina จะงอกออกมาเป็น vesicle ก่อน จากนั้นจึงจะออกมาเป็น zoospore แล้วจึงจะงอกเส้นใยเข้าทำลายพืชได้
การป้องกันกำจัด
1. หลังเก็บเกี่ยวผลแล้วควรทำลายต้นพริกและพืชอาศัยพร้อมทั้งวัชพืชที่อาจเป็นที่อาศัยชั่วคราวของโรคให้หมดจากบริเวณแปลงปลูก รวมทั้งเศษทรากต้นเก่าที่เคยเป็นโรคก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้เพราะอาจมี oospore ของราปะปนอยู่ และไปเกิดโรคขึ้นกับพริกที่ปลูกใหม่ได้
2. เมื่อมีโรคเกิดขึ้นหรือเมื่อสิ่งแวดล้อมเหมาะสม ต่อการเกิดโรคให้ป้องกันหรือลดความเสียหายอันอาจเกิดขึ้น โดยฉีดพ่นต้นพริกด้วยสารเคมี เช่น บอร์โดมิกซ์เจอร์ 6:6:100 แคปแตน มาเน็บ เพ่อร์แบม และคาร์เบนดาซิม อย่างใดอย่างหนึ่งในปริมาณ 50-70 กรัมต่อน้ำ 1 ปี๊บทุกๆ 7-10 วัน หากโรคระบาดรุนแรงก็ให้ร่นระยะเวลาฉีดยาให้สั้นลงเป็น 4-5 วันครั้ง
โรคใบจุดที่เกิดจาก Cercospora (Cercospora leaf spot)
ใบจุดของพริกที่เกิดจาก Cercospora sp. เป็นโรคปกติธรรมดาที่จะพบได้ทั่วไปในทุกแห่งที่มีการปลูก โดยจะเป็นกับใบแก่เพียง 2-3 ใบที่อยู่ตอนล่างๆ ของต้นไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย แต่ในบางท้องถิ่นที่มีสิ่งแวดล้อมเหมาะสมเอื้ออำนวยต่อเชื้อก็จะกลายเป็นโรคที่สร้างความเสียหายรุนแรงได้
อาการโรค
โรคจะเข้าทำลายก่อให้เกิดอาการได้ทุกส่วนของต้นพริกไม่ว่าจะเป็นต้น กิ่ง ก้านใบ กลีบดอก ขั้วผล บนใบ แผลจะเริ่มจากจุดเซลล์ตายเล็กๆ ค่อนข้างกลมแล้วค่อยขยายใหญ่ขึ้นเปลี่ยนเป็นแผลสีเหลืองซีดจางขอบเข้ม ตอนกลางบาง มีสีจางหรือเป็นจุดขาว ปกติแล้วแผลจะมีขนาดราว 3-4 มิลลิเมตร แต่ถ้าเกิดเดี่ยวๆ บางครั้งอาจมีขนาดโตถึง 1 เซนติเมตร ใบที่เกิดแผลมากๆ เนื้อใบจะเหลืองทั้งใบ แล้วร่วงหลุดจากต้น ในรายที่เป็นรุนแรงใบจะล่วงหมดทั้งต้นซึ่งจะมีผลทำให้เกิดความเสียหายคือต้นโทรมไม่ออกผลหรือติดเม็ด แต่ถ้าเป็นในระยะที่ให้ผลแล้วเมื่อได้รับแสงอาทิตย์เต็มที่จะทำให้เกิดอาการไหม้ตายนึ่ง (sunburn) ขึ้นกับผลพริก เนื่องจากไม่มีใบช่วยบังแสงให้ซึ่งจะเป็นช่องทางให้เชื้ออื่นเข้าเกาะกินได้ง่ายยิ่งขึ้นสำหรับอาการแผลบนต้น กิ่ง ก้าน มีลักษณะเป็นแผลยาวสีดำหรือน้ำตาลเข้ม หากเกิดมากๆ จะทำลายกิ่ง ก้าน เหล่านั้นให้แห้งตายได้ และถ้าเกิดแผลที่ขั้วผลก็จะทำให้ผลร่วง
สาเหตุโรค: Cercospora capsici
เป็นราพวก imperfecti ใน Class Deuteromycetes ขยายพันธุ์โดยการสร้างโคนิเดียบนก้านที่เกิดเป็นกระจุกที่บริเวณแผลบนพืช โคนิเดียลักษณะเป็นเส้นท้ายป้านปลายเรียวแหลม (clavate) สีขาวใสมีผนังแบ่งกั้นแบ่งออกเซลล์ย่อยอีก4-5 อันขนาดโดยเฉลี่ยตั้งแต่ 75-125 ไมครอน และจะเกิดได้ดียิ่งขึ้นถ้าอากาศชื้น โคนิเดียจะแพร่กระจายและระบาดได้ดีโดยลม การสาดกระเซ็นของนํ้า แมลง เครื่องมือกสิกรรมและสิ่งเคลื่อนไหวทุกชนิด
การอยู่ข้ามฤดูของเชื้อ เส้นใยที่ขึ้นเกาะกินอยู่บนต้นพืช เมื่อพืชตายก็จะอาศัยเกาะกินอยู่บนเศษซากพืชต่อมาได้อีกอย่างน้อย 1 ฤดูปลูก หรือไม่ก็ไปอาศัยเกาะติดอยู่กับเมล็ดในลักษณะ seed-borne
การป้องกันกำจัด
1. เลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่สะอาดปราศจากเชื้อ
2. งดหรือหลีกเลี่ยงการปลูกพริกลงในแปลงหรือดินปลูกที่เคยมีโรคระบาดมาก่อนอย่างน้อย 2 ปี
3. เมื่อเกิดโรคให้ฉีดพ่นต้นพริกด้วยสารเคมี เช่น บอร์โดมิกซ์เจอร์ 6:6:100 แคปแตน ไซแรม หรือมาเน็บ ใน อัตราความข้น 40-60 กรัมต่อนํ้า 1 ปี๊บทุกๆ 5-7 วัน
โรคเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อ Fusarium (Fusarium wilt)
โรคเหี่ยวของพริกที่เกิดจาก Fusarium sp. ได้มีผู้รายงานการพบครั้งแรกในรัฐนิวเม็กซิโกประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปี คศ. 1960 หลังจากนั้นก็มีรายงานการระบาด และความเสียหายจากโรคนี้ในเกือบทุกแห่งที่มีการปลูกพริก
อาการโรค
การทำลายที่แท้จริงจะเกิดขึ้นที่รากหรือส่วนของต้นที่อยู่ระดับหรือใต้พื้นดินซึ่งในระยะแรกจะมองไม่เห็น จนเมื่อรากส่วนใหญ่ถูกทำลายจนเน่าเสียแล้วพืชจึงจะแสดงอาการให้เห็นภายนอก คือใบเหลืองเหี่ยวลู่ลงและร่วงหลุดจากต้นในที่สุด อาการที่เกิดขึ้นนี้เมื่อเริ่มแสดงให้เห็นแล้วจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว ในกิ่งหรือแขนงที่ยังอ่อนจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแล้วแห้งตาย ระยะนี้เมื่อถอนต้นขึ้นมาจากดินจะพบว่าส่วนของโคนต้นและรากถูกทำลายเปลือกหลุดล่อนเน่า เป็นสีน้ำตาลเข้ม รากส่วนใหญ่จะขาดหลุดติดอยู่ในดิน หากดินมีความชื้นสูงจะพบเส้นใยและสปอร์ของราเป็นสีขาวหรือสีส้มอ่อนๆ เกาะติดเป็นกลุ่มอยู่ที่บริเวณแผล การเกิดโรคหากเป็นในระยะกล้าอาการจะคล้ายโรค damping-off คือ กล้าจะล้มพับแห้งตายเป็นหย่อมๆ เมื่อโตขึ้นมาในระยะที่เป็นต้นอ่อนหากเป็นรุนแรงอาจถึงตายได้เช่นกันหรือไม่ก็แคระแกร็นไม่ให้ดอกออกผล ถ้าเป็นในระยะที่ต้นแก่ติดผลแล้ว ผลพริกที่ได้จะขาดความอุดมสมบูรณ์มีขนาดลีบเล็ก หดย่น และร่วงหลุดจากต้น
สาเหตุโรค: Fusarium oxysporum var. vasinfectum
เป็นเชื้อ Fusarium ในกลุ่ม oxysporum อีกชนิดหนึ่งที่ระบาดแพร่หลายที่ทำความความเสียให้กับพืชอย่างกว้างขวางมากมายหลายชนิดที่พบทำลายพริกนี้ก็เป็น variety หนึ่งเฉพาะคือ vasinfectum พวกนี้พบว่ามีการขยายพันธุ์ โดยการสร้างสปอร์ถึง 3 ชนิด คือ ไมโครสปอร์ (microspore) เป็นสปอร์ที่มีขนาดค่อนข้างเล็กและมีเซลล์เดียว มาโครสปอร์ (macrospore) เป็นสปอร์ที่มีขนาดโตกว่ารูปโค้งเหมือนเคียวหรือพระจันทร์เสี้ยวมีผนังกั้นแบ่งออกเป็นเซลล์ย่อยๆ 2-6 เซลล์ ส่วนใหญ่ที่พบจะมี 4 เซลล์ ซึ่งแบ่งโดยผนัง septate 3 อัน ชนิดสุดท้ายได้แก่ chlamydospore เป็นสปอร์ที่เกิดอยู่ภายในเส้นใยมีผนังค่อนข้างหนา
F. oxysporum var. vasinfectum เป็นราที่ค่อยข้างไวต่อการเปลี่ยนแปลงระดับอุณหภูมิและความชื้นมากอุณหภูมิเหมาะที่สุดต่อการเจริญจะอยู่ในช่วงระหว่าง 24-28° ซ ถ้าลดต่ำกว่า 17° ซ. หรือสูงกว่า 38° ซ. แล้วการเจริญจะเป็นไปอย่างช้าๆ หรือไม่มีการเจริญเลย สำหรับในเรื่องของความชื้นผิดกับ Fusarium spp. ทั่วๆ ไป คือค่อนข้างชอบดินที่มีความชื้นสูง พริกที่ปลูกในดินแห้งหรือที่ดอนมักจะไม่ถูกเชื้อนี้ทำลาย แต่จะเป็นรุนแรงในดินกลุ่มที่มีการระบายน้ำเลว
การอยู่ข้ามฤดูและการแพร่ระบาด
โรคนี้หลังจากที่เกิดขึ้นครั้งหนึ่งแล้วเชื้อก็จะอาศัยอยู่ในดินปลูกตลอดไปได้โดยไม่มีกำหนดจากการอาศัยเกาะกินเศษซากพืชและอินทรีย์วัตถุอื่นๆ ที่มีอยู่ในดินนั้น หากปลูกพืซซํ้าลงไปก็จะเกิดโรคขึ้นติดต่อกันไปได้เรื่อยๆ การระบาดส่วนใหญ่เชื้อจะติดไปกับดิน นํ้า จอบ เสียม ไถ คราด ล้อรถยนต์หรือแทร๊คเตอร์ หรือติดไปกับขึ้นส่วนของพืช เช่น หัว หน่อ เหง้า และต้นกล้า เมื่อเข้าทำลายพืชซึ่งส่วนใหญ่จะผ่านทางรากหรือแผลที่โคนต้น หลังจากนั้นเมื่อสิ่งแวดล้อมเหมาะสม พืชจะแสดงอาการเหี่ยวทั้งต้นและตายภายใน 2 สัปดาห์ แต่อาจจะนานออกไปถึง 2-3 เดือน หากสิ่งแวดล้อมเหมาะสมต่อเชื้อ พืชอาจจะเหี่ยวเฉพาะในตอนกลางวัน หรือไม่ก็แคระแกร็นไม่ถึงกับตายทั้งต้น
การป้องกันกำจัด
1. หลีกเลี่ยงการปลูกพริกลงในดินที่เคยมีโรคเกิดมาก่อน โดยเฉพาะกล้าควรเพาะในดินที่แน่ใจว่าสะอาดปราศจากเชื้อหรือไม่ก็ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว
2. ควรปลูกพริกบนดินที่ยกเป็นร่องสูงมีการระบายน้ำดี ดินเหนียวจัดที่อุ้มน้ำในที่ลุ่มเมื่อเกิดโรคมักจะรุนแรงและเสียหายมากกว่าในดินแห้งหรือดินปนทราย
3. เลือกปลูกพริกโดยใช้พันธุ์ที่มีความต้านทานต่อโรค
โรครากและโคนเน่า (root rot)
เป็นโรคที่ทำลายรากและโคนต้นพริกอีกโรคหนึ่งที่มีสาเหตุจากเชื้อรา คือ Sclerotium rolfsii ชนิดเดียวกับที่พบในมะเขือเทศ
อาการโรค
พริกที่ถูกเชื้อ Sclerotium rolfsii เข้าทำลายก็เช่นเดียวกับในมะเขือเทศ คือ เชื้อจะเข้าทำลายส่วนรากและโคนต้นระดับดิน ถ้าเป็นในระยะกล้าอาการจะคล้าย damping-off
ส่วนในต้นโตจะเกิดอาการใบเหลือง เหี่ยว ใบร่วง แคระแกร็นหยุดการเจริญเติบโต เมื่อถอนต้นขึ้นดูจะพบว่าระบบรากถูกทำลายหลุดล่อนขาดกุดเช่นเดียวกับที่เกิดจาก Fusarium sp. บริเวณโคนต้น เปลือกจะถูกทำลายลึกเข้าไปถึงส่วนของลำต้นภายในเกิดเป็นแผลเป็นสีนํ้าตาล พร้อมกับจะปรากฎเส้นใยสีขาวขึ้นอยู่ทั่วไป และที่ต่างไปจากราอื่นๆ คือ จะพบเม็ดสเครอโรเทียสีขาวหรือน้ำตาลเป็นเม็ดกลมเล็กๆ เท่าหัวเข็มหมุดเป็นจำนวนมากอยู่ที่บริเวณแผลและดินโคนต้น เห็นได้ชัดเจน เมื่อรากถูกทำลายหมดหรือหากเกิดแผล จนรอบโคนต้นแล้วพืชมักจะแห้งตายทั้งต้น
การป้องกันกำจัด
1. ขุดทำลายต้นพริกที่เป็นโรคพร้อมทั้งฆ่าทำลายเชื้อในดินบริเวณโคนต้นโดยใช้ไฟเผาหรือสารเคมี เช่น เทอราคลอ ฟอร์มอลดีไฮด์ ราดลดลงไปในดินนั้น
2. หลีกเลี่ยงหรืองดปลูกพริกซํ้าลงในดินที่เคยมีระบาดไม่ต่ำกว่า 5 ปี
3. หลังเก็บเกี่ยวผลแล้วให้เติมปูนขาวลงในดินใน
ปริมาณ 200-300 กก. ต่อไร่ แล้วปล่อยทิ้งไว้ระยะหนึ่งเมื่อใกล้จะปลูกพืชใหม่ จึงค่อยใส่ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยคอกลงไปอีก 2-4 ตัน วิธีนี้จะช่วยหยุดการเจริญเติบโตและลดปริมาณเชื้อที่มีอยู่ขณะเดียวกันก็จะช่วยเพิ่มความสมบูรณ์ของดินเพื่อให้เหมาะต่อการเจริญเติบโตของพืชต่อไป
โรคพริกที่เกิดจากไวรัส (virus diseases)
พริกเป็นพืชที่ง่ายต่อการติดเชื้อไวรัสมาก โดยสามารถรับเชื้อไวรัสต่างๆ ที่เป็นสาเหตุของโรคพืชอื่นได้เกือบทุกชนิดและก่อให้เกิดอาการเช่นเดียวกับโรคไวรัสในพืชอื่นทั่วๆ ไป เช่น ยอดตาหรือใบม้วนหยิก เป็นคลื่นหดย่น กุด ด่างลาย เป็นดอกดวง เหลืองซีด ชะงักการเจริญเติบโต แคระแกรน ฯลฯ
รายงานชนิดของไวรัสต่างๆ ที่พบและก่อให้เกิดความเสียหายในพริกได้แก่
1. Potato virus Y (PVY)
อาการหลังจากที่พริกได้รับเชื้อ PVY เริ่มต้นจากเส้นใบขยายบวมโตเด่นชัดขึ้น (vein clearing) ติดตามด้วยอาการด่างลายหดย่นขึ้นกับเนื้อใบ ต้นแคระแกรน ออกผลหรือให้เม็ดน้อย ขนาดเล็กกว่าปกติ บิดเบี้ยว บางครั้งเมื่อเป็นมากใบจะหลุดร่วงหมดทำให้ตายทั้งต้น
PVY แพร่ระบาดได้ดีโดยเพลี้ยอ่อนบางชนิด สามารถมีชีวิตคงทนอยู่ได้ 1-2 วันในน้ำคั้นที่คั้นออกจากใบพืช และคงความเจือจางต่ำสุดได้ 1:100 ในการก่อให้เกิดโรคและทนอุณหภูมิได้สูง 57.7° ซ.
2. Chilli veinal mottle virus (CVMV)
เป็นไวรัสในกลุ่มเดียวกับ PVY คือ เป็นไวรัสรูปท่อนยาวคดงอ ก่อให้เกิดอาการด่างเขียวซีดบริเวณเนื้อใบ แต่เนื้อเยื่อรอบๆ เส้นใบยังคงเขียวเป็นปกติ บริเวณปลายใบมักมีสีซีดกว่าบริเวณโคนใบ ถ้าพืชเป็นโรครุนแรง ใบจะลีบ มีรูปลักษณะผิดปกติ ด่างชัดเจน และต้นหดสั้น พืชสามารถแตกกิ่งก้านต่อไปได้อีก แต่ส่วนยอดจะเจริญช้าและแคระแกร็นในที่สุด เชื้อ CVMV มีขนาดความยาวประมาณ 780 นาโนเมตร แพร่ระบาดได้โดยเพลี้ยอ่อน และโดยการทานํ้าคั้นบนใบพืช มีพืชอาศัยอื่นหลายชนิดในตระกูล Solanaceae เช่น ยาสูบต่างๆ และวัชพืชบางชนิด เช่น โทงเทง (Physalis flondana) ลำโพง (Datura spp.) ซึ่งเป็นแหล่งพักตัวของไวรัสนอกฤดูปลูกพืชได้อย่างดี
3. Cucumber mosaic virus (CMV)
เป็นไวรัสชนิดเดียวกับที่พบในมะเขือเทศ ทำให้พืช แสดงอาการด่าง หรือด่างเหลือง (yellow mosaic) แต่ไม่ชัดเจนนัก บริเวณด่างเหลือง พบเป็นแต้มสีเหลืองจาง กระจาย บนใบ มักพบเข้าทำลายร่วมกับไวรัส ถ้าพืชเป็นโรครุนแรง ใบจะลดรูป ล้มเรียว แบบที่เรียกว่า shoe-string ลักษณะของไวรัสเป็นรูปทรงกลมชนิดอื่น เช่น PVY และ CVMV ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 28-30 นาโนเมตร ถ่ายทอดได้โดยแมลงพาหะจำพวกเพลี้ยอ่อน หลังจากแมลงดูดกินพืช เป็นโรคในระยะเวลาสั้นๆ เป็นวินาที ทำให้โรคแพร่ระบาดได้รวดเร็ว
4. Tobacco etch virus
เป็นไวรัสอีกตัวหนึ่งที่มีรายงานการพบเสมอในพริกโดยก่อให้เกิดอาการแผลลักษณะเป็นวงเรียงซ้อนกัน (concentric ring) บนใบและผลพริก โดยเนื้อเยื่อตรงส่วนที่เป็นวงจะแห้งตายเป็นสีเหลืองตัดกับส่วนในที่จะคงเขียวเป็นปกติ บนผลพริกหากเกิดอาการมากๆ จะบิดเบี้ยวและหด เสียรูป ส่วนใบอ่อนที่เพิ่งแตกจะมีขนาดหดเล็กลงด่างและย่น ในรายที่เป็นรุนแรงส่วนรากที่อยู่ในดินจะถูกทำลายเสียหายไปด้วยและกลายเป็นสีนํ้าตาล
แพร่ระบาดได้ดีโดยเพลี้ยอ่อน สำหรับการอยู่ข้ามฤดูส่วนใหญ่ก็โดยอาศัยเกาะกินอยู่กับวัชพืชถาวรบางชนิดในบริเวณใกล้เคียง
5. Alfalfa mosaic virus
อาการบนต้นพริกจากการทำลายของไวรัสตัวนี้มีหลายลักษณะ เช่น แผลสีเหลือง ใบด่างลาย เกิดเป็นแผลวงแหวนกลม ใบจุดต้นแคระแกรน ให้ดอกติดผลน้อย ลดปริมาณผลผลิต Alfalfa mosaic virus ระบาดแพร่กระจายได้ดีโดยแมลงเพลี้ยอ่อนเช่นกัน สำหรับไวรัสในน้ำคั้ยพืชสามารถทนความร้อน 64 ° ซ.ได้นาน 10นาที
การป้องกันกำจัด
การป้องกันกำจัดโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสมีหลักใหญ่ๆ ที่ควรยึดอยู่ 3 ประการด้วยกันคือ
1. หลีกเลี่ยงการปลูกพริกที่อ่อนแอหรือง่ายต่อการติดเชื้อลงในดินปลูกที่เคยมีโรคหรือใกล้กับพืชที่สามารถติดต่อโรคกันได้ เช่น มะเขือเทศ ยาสูบ มันฝรั่ง
2. พยายามขจัดทำลายต้นตออันเป็นแหล่งกำเนิดของโรคตลอดจนพืชอาศัยและวัชพืชต่างๆ ซึ่งอาจเป็นสื่อหรือที่อาศัยชั่วคราวของเชื้ออย่าให้มีหลงเหลืออยู่บริเวณแปลงปลูก
3. ป้องกันการระบาดและการติดเชื้อ เช่น ขจัดทำลายและป้องกันการระบาดของแมลงที่เป็นตัวนำและถ่ายเชื้อ ระวังเรื่องการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์เกี่ยวกับการกสิกรรม ต้องแน่ใจว่าสะอาดอยู่เสมอ ตลอดจนหลีกเลี่ยงการสัมผัสจับต้องต้นพืชที่เป็นโรค หากจำเป็นต้องใช้ต้องล้างให้สะอาดเสียก่อนที่จะไปปฏิบัติกับต้นอื่นต่อไป
ข้อควรสังเกตุในการป้องกันกำจัดโรคของพริกที่เข้าใจว่าเกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งแสดงอาการผิดปกติในลักษณะยอดใบ อาจจะช่วยป้องกันลดความเสียหายจากโรคลงได้
โรคหัวโกร๋นและใบม้วนหงิกแพร่หลาย และสร้างความเสียหายให้กับการปลูกพริกมากโรคหนึ่ง
อาการโรค
อาการจะเกิดกับใบอ่อนที่ยอดหรือปลายกิ่ง ตั้งแต่ใบที่อยู่ปลายสุดลงมาถึงใบที่ 5 หรือ 6 จะมีลักษณะเล็กหงิกงอขอบม้วนงอลงทั้งสองข้าง ใบที่อ่อนที่สุดจะมีลักณณะเล็กเรียวยาวมีสีเข้มปลายโค้งงอ ขอบม้วนลงเช่นกัน ใบพวกนี้มักจะร่วงหลุดออกทำให้เกิดอาการยอดกุดแห้งกลายเป็นหัวโกร๋นตามชื่อที่ใช้เรียกโรคนี้ ต้นพริกที่แสดงอาการโรคชะงักงันหยุดการเจริญเติบโต ไม่ออกดอกออกผลเพราะส่วนปลายถูกทำลายหมด แม้ภายหลังบางทีจะสามารถแตกยอดออกมาได้ใหม่อีกแต่ก็จะใหัผลิตผลไม่เต็มที่เหมือนต้นปกติ
อาการของโรคหัวโกร๋นบางครั้งหากดูเผินๆ อาจทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นโรคยอดและใบหงิกที่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ กัน แต่ถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าไม่เหมือนกันนักคือโรคใบหงิกที่เกิดจากไวรัสนั้นใบจะม้วนงอจีบย่นและหยิกเป็นคลื่นพร้อมกับเส้น vein มีลักษณะพองโต ขนาดอาจจะเล็กลงแต่จะไม่เรียวยาว ส่วนโรคที่เกิดจากไรขาวใบจะมีขนาดเล็กเรียวยาวโดยเฉพาะใบที่ 1-2 อาจมีอาการหยิกเป็นคลื่นแต่ก็เป็นเพียงเล็กน้อย เส้นใบไม่บวมโต
สาเหตุ: ไรขาว (Polvphagotarsonemus latus)
เป็นสัตว์ปากดูดตัวเล็กๆ มีแปดขาเช่นเดียวกับแมงมุมหรือไรแดง พวกนี้จะเกาะดูดกินนํ้าเลี้ยงบนใบอ่อนของงพืชทันทีที่คลี่ออกจากตา โดยไรตัวผู้ซึ่งเป็นตัวเต็มวัยซึ่งเคลื่อนที่ได้จะนำเอาตัวอ่อนของตัวเมียเคลื่อนที่ไปยังใบอ่อนดังกล่าว ตัวแก่ที่โตเต็มที่จะมีสีเหลืองขนาดราว 1.5 มิลลิเมตร มีปีกบินไม่ได้ ตัวเมียจะมีอายุประมาณ 10 วัน แต่ละวันจะวางไข่ได้ประมาณ 2-4 ฟอง ที่ด้านใต้ของใบพืช ไข่มีลักษณะกลมรี ขนาดราว 0.7 มิลลิเมตร ที่เปลือกจะมีปุ๋มสีขาวเล็กๆ เรียงกันอยู่ 5-6 แถวไข่จะฟักออกเป็นตัวอ่อน (larvae) ภายใน 2-3 วัน จากนั้นก็จะกลายเป็นตัวแก่เต็มวัย (adult) ในอีก 4-6 วันต่อมา ไรขาวจะแพร่ระบาดขยายพันธุ์ได้ดีในช่วงที่ กาศแห้งและเย็น
การป้องกันกำจัด
เมื่อเกิดการระบาดหรือเมื่อสังเกตเห็นต้นพริกแสดงอาการให้ฉีดพ่นด้วยสารเคมี เช่น เคลเธน (kelthane) ไดโคโฟล (dicofol) หรือ คลอโรเบนซิเลท (chlorobenzilate) โดยนำสารเคมีเหล่านี้มาผสมนํ้าฉีดให้ทั่วโดยเฉพาะด้านใต้ใบที่อยู่ส่วนยอดหรือปลายต้นโดยทำการฉีดทุกๆ 2-3 วัน จนกว่าไรจะถูกทำลายหมดหรือหยุดระบาด
โรคยอดไหม้และใบหงิกที่เกิดจากเพลี้ยไฟ
เป็นโรคที่เกิดจากการเกาะดูดกินของแมลงอีกชนิดหนึ่งที่ระบาดแพร่หลายและสร้างความเสียหายให้กับพริกไม่แพ่โรคที่เกิดจากไรขาว
อาการ
การทำลายของเพลี้ยไฟก็เช่นเดียวกับไรขาวคือจะเข้าเกาะกินใบอ่อนที่ส่วนปลายหรือส่วนยอดของต้นและกิ่งให้เกิดอาการในลักษณะที่คล้ายๆ กัน คือ ใบจะเรียวยาว มีขนาดเล็กลงหงิกโค้งงอ ขอบม้วน หรือใบห่อ ผิวใบจะมีลักษณะไหม้เป็นจุดหรือแผลสีน้ำตาล เมื่อถูกเกาะกินนานๆ ใบจะเหลือง มีลักษณะแข็งกรอบและร่วงหลุดออกได้โดยง่าย เมื่อมองไปที่ต้นพริกพวกนี้จะเห็นยอดมีอาการรวมตัวกันเป็นกระจุกไม่คลี่ออกดังเช่นต้นปกติ มีสีน้ำตาลไม่มีการให้ดอกออกผล ต้นและกิ่งหยุดการเจริญเติบโต
สาเหตุโรค: เพลี้ยไฟ (Scortothrips dorsaliss)
เป็นแมลงจำพวกปากดูดซึ่งชอบดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบอ่อนของพืช ตัวแก่จะมีปีกสองคู่บินได้ ตัวสีน้ำตาล ยาวประมาณ 1.5-2.0 มิลลิเมตร เมื่อแก่จะวางไข่ติดอยู่กับใบพืช และจะฟักเป็นตัวอ่อนภายใน 1 สัปดาห์ และจะพักตัวอยู่อีก 4-5 วันจึงจะกลายเป็นตัวเต็มวัย บินไปทำลายพืชต้นอื่นได้อีก เพลี้ยไฟตัวนี้นอกจากจะทำลายพริกแล้วยังพบในต้นชาและกุหลาบด้วย
การป้องกันกำจัด
เมื่อเกิดระบาดให้ฉีดพ่นต้นพืชด้วยสารเคมีอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้
1. เอ็นดริน (endrin) หรือเอ็นเดร็กซ์ 20 อีซี (Endrex 20 E.C.) ในอัตราส่วน 20-30 มิลลิลิตร หรือ 2-3 ช้อนแกงต่อนํ้า 20 ลิตร ทุกๆ 7-10วัน
2. ไบดริน (Bidrin) 20-30 มิลลิลิตรผสมนํ้า 20 ลิตร ทุกๆ 10-15 วัน
3. ฟอสดริน (Phosdrin) 15-30 มิลลิลิตรผสมนํ้า 20 ลิตร ทุก 3 วัน
4. เมพาทิน (Mepatin) 45 มิลลิลิตร ผสมกับน้ำ 20 ลิตร ทุกๆ 7-10 วัน สารเคมีนี้เมื่อผสมกับเอ็นดรินในอัตราส่วน 1:1 จะช่วยให้ผลในการฆ่าทำลายเพลี้ยไฟได้ดีขึ้น
5. แลนเนท (Lannate) ในอัตราส่วน 6-12 กรัม ต่อนํ้า 20 ลิตร ทุกๆ 5-7 วัน
โรคที่เกิดจากธาตุอาหาร (mineral deficiency)
ธาตุอาหารที่มีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตซึ่งเมื่อขาดหรือได้รับไม่พอเพียงทำให้พริกแสดงอาการผิดปกติที่พบได้เสมอมีอยู่ด้วยกัน 2-3 ธาตุ คือ
โรคผลพริกซีดขาวที่เกิดจากการขาดโปแตสเซียม (K)
ในดินปลูกที่มีธาตุโปแตสเซียมไม่พอเพียงหรือมีอยู่ในรูปที่ไม่ละลายนํ้าพืชเอาไปใช้ไม่ได้ เช่น ดินปนทราย หรือดินที่เป็นทรายจัดตามชายทะเล ดินโคลนที่มีมูลสัตว์มากๆ และดินในแหล่งที่มีถ่านหิน (peat soil) ในกรณีดังกล่าว ความผิดปกติจะเกิดขึ้นที่ผลหรือเมล็ดพริกเมื่อแก่และสุก สีจะไม่แดงสม่ำเสมอ บางส่วนของผลจะซีดจางหรือเป็นสีขาว ผิวบางขาดความสวยงาม เมล็ดภายในไม่สมบูรณ์ ไม่เหมาะที่จะใช้ทำพันธุ์ต่อไป
อย่างไรก็ดี ในดินเหนียวที่มี pH ค่อนมาทางกรด เช่น บริเวณกรุงเทพฯ ดอนเมือง ปทุมธานี ปรากฎว่ามีธาตุโปแตสเซียมสมบูรณ์ และอยู่ในรูปที่พืชนำไปใช้ได้ดี จึงมักไม่แสดงอาการขาดให้เห็น
สำหรับการแก้การขาดธาตุโปแตสเซียม ทำได้โดยการเติมปุ๋ยสูตรผสมระหว่าง N P K โดยให้มีเลขตัวท้ายสูง เช่น12-12-20 หรือ 14-14-21 ก็จะช่วยลดการเกิดความเสียหายลงได้
นอกจากนั้นการเติมปุ๋ยอินทรีย์เช่นปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักลงไปมากๆ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความเป็นกรดของดินให้สูงขึ้น ก็จะเป็นการแก้การขาด K ได้
โรคใบลายที่เกิดจากการขาดแมกนีเซียม (Mg)
หน้าที่ของแมกนีเซียมอย่างหนึ่งในพืช คือ เป็นองค์ประกอบของคลอโรฟิลล์ ทำให้พืชมีสีเขียวเป็นปกติ สำหรับในพริกเมื่อขาดจะทำให้เกิดอาการเนื้อใบระหว่างเส้น vein ด่างลาย มีสีเหลืองสลับเขียว ทำให้ต้นขาดความสมบูรณ์ปรุงอาหารได้ไม่เต็มที่ เพราะใบขาดคลอโรฟิลล์ นอกจากนั้นยังทำให้เซลล์ผิวหรือผนังของต้นและใบบาง ทำให้ง่ายต่อการเข้าทำลายและการเกิดโรคบางชนิดขึ้นกว่าปกติ ใบที่แสดงอาการต่อมาจะเหลือง แล้วแห้งล่วงหลุดออกจากต้นอาการขาดธาตุแมกนีเซียมจะเริ่มจากโคนต้นก่อน แล้วจึงค่อยลามขึ้นไปหายอดหรือปลายกิ่งการแก้การขาดธาตุแมกนีเซียม ทำได้โดยการเติมสารประกอบแมกนีเซียม เช่น เกลือเอ็ปซั่ม (MgS04-7H20) ผสมน้ำฉีดพ่นให้ต้นพริกโดยตรงหรือจะราดรดในดินแปลงปลูกก็ได้ นอกจากเอ็ปซั่มก็อาจจะใช้ปูนโดโลไมท์ (dolometic lime) เติมลงในดินในปริมาณ 1,000 กก. หรือ 1 ตันต่อไร่ แต่ควรจะใส่ก่อนปลูกพืชไม่ต่ำกว่า 30 วัน แต่ปูนโดโลไมท์ อาจช่วยทำให้ดินเป็นด่างจัดขึ้น ฉะนั้นก่อนปลูกพืชควรเติมปุ๋ยอินทรีย์ลงไปมากๆ ประมาณ 1-2 ตันต่อไร่ จะทำให้ดินอุดมสมบูรณ์เหมาะต่อการเจริญเติบโตของพืชยิ่งขึ้น
โรคยอดเหลืองที่เกิดจากการขาดธาตุเหล็ก (Fe)
ธาตุเหล็กมีความสำคัญในการร่วมสร้างคลอโรฟิลล์เป็น องค์ประกอบของเอนไซม์หลายชนิด ช่วยสังเคราะห์โปรตีน และช่วยในการดูดซึมธาตุอาหารอย่างอื่น สำหรับในพริก อาการขาดธาตุเหล็กที่จะพบเห็นได้เสมอ คือ ยอดจะมีสีซีดจางเหลืองหรือขาว ใบบริเวณยอดของต้นหรือปลายกิ่งจะมีขนาดเล็กลง ปล้องหรือข้อจะหดสั้นเป็นกระจุก ในกรณีที่ขาดมาก ยอดอาจแห้งตาย ไม่ออกดอกหรือให้เม็ด แต่ถ้ามีเมล็ดแล้วเมื่อสุกแก่จะมีสีซีดจางไม่เหลืองหรือแดงสดเหมือนปกติ
การแก้การขาดธาตุเหล็กทำได้โดยนำเอาสารประกอบธาตุเหล็ก เช่น เฟอรัสซัลเพ่ตหรือเพ่อริคซิเตรท มาละลายน้ำในอัตราส่วน 120-125 กรัมต่อน้ำ 1 ปี๊บ ฉีดพ่นให้กับต้นพริกโดยตรงหรือราดรดลงในแปลงปลูกรอบๆ ต้นก็จะช่วยแก้การขาดธาตุเหล็กได้ อย่างไรก็ดี การฉีดพ่นให้พืชได้รับทางใบโดยตรง จะให้ผลเร็วกว่า และควรทำซํ้า 3-4 ครั้ง
การขาดธาตุเหล็กมักจะพบในพริกที่ปลูกในดินที่เป็นด่างจัดหรือมีปูนมากทั้งที่ดินพวกนี้มีธาตุเหล็กอยู่มาก แต่ก็จะอยู่ในรูปที่ไม่ละลายนํ้า พืชไม่สามารถดูดซึมไปใช้ได้ ในกรณีนี้การลดความเป็นด่างของดินโดยการเติมปุ๋ยอินทรีย์ลงไปมากๆ ราว 3-4 ตันต่อไร่ ก็จะเป็นการช่วยทำให้ธาตุเหล็กที่มีอยู่ กลับเป็นประโยชน์ พืชสามารถนำไปใช้ในการเจริญเติบโตได้เป็นปกติ