ปุ๋ยทางใบ (ปุ๋ยเกล็ดและปุ๋ยน้ำ)

ปุ๋ยทางใบ

ปุ๋ยทางใบ หมายถึง ปุ๋ยที่เป็นสารละลายแล้วฉีดพ่นทางใบเพื่อให้ธาตุอาหารแก่พืช
เนื่องจากรากพืชสัมผัสอยู่กับอนุภาคดินและสารละลายของดินโดยตรง รากจึงดูดธาตุอาหารได้ตลอดเวลาส่วนใบพืชอยู่ในอากาศ จะมีโอกาสดูดธาตุอาหารได้เฉพาะจากสารละลายที่มาสัมผัสใบเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ใบจึงได้รับธาตุอาหารตามธรรมชาติจากน้ำฝนและน้ำค้าง การฉีดพ่นปุ๋ยทางใบให้แก่พืชเป็นการให้พืชได้รับธาตุอาหารได้มากขึ้นและเร็วขึ้น

ชนิดของปุ๋ยทางใบ

ปัจจุบันใช้ปุ๋ยทางใบมี 2 ชนิด
1. ปุ๋ยเกล็ด คือปุ๋ยเคมีชนิดแข็งที่มีสภาพเป็นรูปผลึกของสารประกอบ ผลิตจากการนำแม่ปุ๋ยชนิดต่างๆ มาผสมกันให้ได้สูตรที่ต้องการเป็นปุ่ญที่ละลายน้ำง่าย
2. ปุ๋ยน้ำหรือปุ๋ยเหลว คือปุ๋ยที่ได้จากการละลายแม่ปุ๋ยในน้ำให้ได้สัดส่วนเป็นปุ๋ยสูตรต่างๆ โดยที่แม่ปุ๋ยจะถูกละลายได้ทั้งหมด วิธีใช้ปุ๋ยเพียงแต่นำมาเจือจางด้วยน้ำในอัตราที่พอเหมาะแล้วนำไปฉีดพืชได้ทันที

ข้อดีของการใช้ปุ๋ยทางใบ

  1. ช่วยให้พืชเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว หลังจากการย้ายปลูกและตั้งตัวได้แล้ว
  2. ใช้กับอาการขาดธาตุอาหารในระยะแรกๆ ได้ดี
  3. ใช้ผสมกับการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรคแมลงและควบคุมวัชพืชได้เป็นการประหยัดแรงงาน
  4. ใช้กับพืชที่ปลูกในดินที่มีปัญหา เช่น ดินเค็มดินเปรี้ยวจัด ดินทรายจัด ดินเหนียวจัด หรือดินที่มีปัจจัยแวดล้อมขวางการดูดใช้ธาตุอาหารทางระบบราก
  5. ใช้ในการเสริมธาตุหลัก คือไนโตรเจนในรูปปุ๋ยยูเรียและการใช้ธาตุรองและธาตุอาหารเสริมแก่พืช
  6. พืชสามารถดูดธาตุอาหารโดยทางใบได้มากกว่า และเร็วกว่าการดูดทางรากต้นไม้จึงใช้ประโยชน์จากธาตุอาหารได้เร็ว
  7. ช่วยให้พืชฟื้นตัวเร็ว หลักจากชะงักเนื่องจากกระทบแล้งหรือถูกโรคแมลงทำลาย
  8. ปุ๋ยน้ำ มีความสม่ำเสมอของเนื้อปุ๋ยแน่นอนกว่าปุ๋ยชนิดแข็งและปุ๋ยเกล็ด มีปริมาณเนื้อปุ๋ยรวม (N+P2O5+K2O) สูงกว่าปุ๋ยเม็ดทำให้ทุนค่าใช้จ่ายในการขนส่งมากกว่า
  9. ปุ๋ยน้ำผลิตง่ายและเปลี่ยนแปลงปรับปรุงสูตรได้ง่าย จึงผลิตได้มากกว่าสูตรปุ๋ยชนิดแข็ง
  10. ง่ายต่อการขนส่งและใช้ เมื่อเปรียบเทียบปุ๋ยทางใบกับปุ๋ยทางดิน ปุ๋ยทางใบมืใช่จะดีกว่าปุ๋ยทางดินในทุกๆ เรื่อง ข้อเสียหรือความไม่เหมาะสมของปุ๋ยทางใบมีหลายประการ ฉะนั้นจึงควรพิจารณาข้อดีและข้อเสียก่อนจะเลือกใช้ปุ๋ย

คุณสมบัติหรือลักษณะของปุ๋ยทางใบที่ดี

  1. ปุ๋ยพืชที่มีสูตรสูง อย่างน้อยควรมีสูตรผสมรวมของ N+P2O3+K2O ไม่น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็น สำหรับปุ๋ยน้ำและ 60 เปอร์เซ็นสำหรับปุ๋ยเกล็ด
  2. ควรประกอบด้วยธาตุอาหารเสริมบางธาตุ หรือหลายๆ ธาตุนอกเหนือจากธาตุอาหารหลัก N-P-K
  3. ควรเป็นปุ๋ยที่มีความเป็นกรดมากพอ ที่เมื่อนำไปละลายน้ำในระดับความเข้มข้น 0.25 – 3.30 เปอร์เซ็นต์ ของตัวปุ๋ย (ซึ่งเป็นอัตราที่ใช้อยู่ในประเทศไทย) จะได้ส่วนผสมของสารละลายปุ๋ยที่มีค่า pH ระหว่าง 4.5-6.0 ทั้งนี้เนื่องจากค่า pH ในช่วงดังกล่าวใบพืชจะสามารถดูดธาตุอาหารได้ดีและเร็วกว่าค่า pH ของปุ๋ยที่ต่ำหรือสูงกว่านี้
  4. ปุ๋ยน้ำควรเป็นปุ๋ยประเภทสารละลายที่ไม่มีความดัน
  5. ปุ๋ยเกล็ดควรเป็นปุ๋ยที่ละลายน้ำได้เร็วและละลายได้น้ำทั้งหมด
  6. ปุ๋ยน้ำควรเป็นปุ๋ยที่ผลิตจากแม่ปุ๋ยฟอสฟอรัส ในรูปของสารประกอบหรือสารละลายโพลิฟอสเฟต
  7. ปุ๋ยเกล็ดควรอยู่ในรูปผลึกขนาดเล็ก ที่มีความบริสุทธิ์สูงไม่ชื้นง่ายและไม่ควรมีค่าความชื้นมากกว่า 1 เปอร์เซ็นต์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *